สิ่งที่ต้องรู้ก่อนต่อเติมบ้าน
เมื่อเวลาผ่านไป บ้านของเราก็จำเป็นต้องต่อเติมหรือขยับขยายเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้รองรับความต้องการอยู่อาศัยและการใช้สอยที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหน้าบ้าน ต่อเติมหลังบ้าน หรือต่อเติมข้างบ้าน อย่างไรก็ตามการต่อเติมบ้านก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลายคนทะเลาะกับเพื่อนบ้าน หรือถูกปรับเพราะต่อเติมบ้านผิดกฎหมาย ดังนั้น ก่อนจะเริ่มต่อเติมบ้าน เราจะพาไปทำความเข้าใจว่า ต่อเติมบ้านอย่างไรให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่มีปัญหาตามมา
ต่อเติมบ้านอย่างไร ให้ถูกกฎหมาย
1. ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
รูปแบบการก่อสร้างบางประเภทต้องมีการขออนุญาต ซึ่งออกโดยเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการต่อเติมบ้านที่ต้องขออนุญาต มีดังนี้
- การต่อเติมบ้านที่มีพื้นที่ครอบคลุมเกิน 5 ตารางเมตร
- การต่อเติมที่มีความเปลี่ยนแปลงของวัสดุ และขนาดที่แตกต่างไปจากของเดิม
- การเพิ่ม-ลด หรือเปลี่ยนจำนวนเสา คาน บันได และผนัง
- การต่อเติมที่ทำให้น้ำหนักบ้านเพิ่มมากขึ้นจากการคำนวณฐานรับน้ำหนัก
2. ต้องมีสถาปนิกและวิศวกรควบคุม
การยื่นขออนุญาตต่อเติมบ้านต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าของบ้านก็ต้องมีรายละเอียดของแปลนบ้านที่ได้รับการรับรองจากสถาปนิกผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้าง โดยสามารถปรึกษากับสถาปนิกและวิศวกรที่เชี่ยวชาญได้ว่า การต่อเติมบ้านที่วางแผนไว้ ต้องขออนุญาตหรือไม่ หรือให้ช่วยคำนวณน้ำหนักหากมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุ เพื่อสรุปว่าเข้าข่ายต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่
3. มีระยะย่น และการเว้นที่ว่างถูกต้องตามกฎหมาย
ไม่ว่าจะต่อเติมหลังบ้าน ต่อเติมห้องข้างบ้าน ต่อเติมระเบียงหน้าบ้าน ล้วนต้องอยู่ในการควบคุมกฎหมายระยะย่น และที่เว้นว่าง เพื่อไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนกลาง หรือพื้นที่ของคนอื่น โดยความห่างที่กำหนดไว้ มีดังนี้
- มีที่ว่างหรือพื้นที่ที่ไม่มีหลังคาปกคลุม อย่างน้อย 30% ของพื้นที่
- มีระยะย่นระหว่างตัวอาคารกับจุดกึ่งกลางถนนอย่างน้อย 3 เมตร
- มีที่เว้นว่างระหว่างตัวอาคารกับเขตที่ดินด้านหน้าอย่างน้อย 3 เมตร ด้านหลังและด้านข้างอย่างน้อย 2 เมตร
- บ้านชั้นเดียว หรือบ้านที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ควรเว้นระยะห่างของช่องเปิด เช่น ประตู หน้าต่าง ช่องลม หรือระเบียงบ้าน ให้ห่างจากแนวของเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 2 เมตร
- บ้านหรืออาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่น้อยกว่า 23 เมตร ผนังและระเบียงต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 3 เมตร
- หากเป็นผนังทึบ ไม่มีช่องเปิดต่าง ๆ ให้เว้นระยะห่างจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
4. ได้รับความยินยอมจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการต่อเติมบ้านจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ดังนั้น เจ้าของบ้านต้องขอความยินยอมจากเพื่อนบ้านก่อนต่อเติมบ้านด้วย โดยแจ้งให้ทราบถึงวันเวลาที่ก่อสร้าง รวมทั้งผลกระทบจากการต่อเติมบ้านที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เสียงดัง ฝุ่น กลิ่น เป็นต้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งในภายหลัง หากเป็นการต่อเติมข้างบ้านด้วยผนังทึบที่ชิดรั้วบ้านด้านข้าง ต้องจัดทำเป็นหนังสือยืนยันการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นจึงจะทำได้
ต่อเติมบ้านแบบไหน ไม่ต้องขออนุญาต
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคารด้วยการใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิม
- การต่อเติมพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร
- การเพิ่มหรือลดเนื้อที่ของหลังคารวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร
- การเปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่โครงสร้างอาคาร เช่น ผนัง พื้น โดยมีน้ำหนักเพิ่มไม่เกิน 10%
- การเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของอาคาร เช่น ประตู หน้าต่าง ฝ้าเพดาน ที่เพิ่มน้ำหนักไม่เกิน 10%
หากพิจารณาแล้วพบว่าการต่อเติมบ้านที่เรากำลังจะทำ อยู่นอกเหนือ 5 ข้อยกเว้นข้างต้น ควรทำเรื่องขออนุญาต เพื่อป้องกันผลกระทบในอนาคต
ไม่ขออนุญาตต่อเติมบ้าน มีโทษอย่างไร
หากมีการต่อเติมบ้านในเรื่องที่เป็นข้อบังคับแต่ไม่มีการขออนุญาต หรือต่อเติมบ้านผิดไปจากแบบแปลนที่ยื่นขอไว้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ในกรณีที่เจ้าของบ้านถูกร้องเรียน และสืบพบว่ามีการต่อเติมบ้านผิดกฎหมาย จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าการต่อเติมบ้านบางรูปแบบก็ไม่ต้องขออนุญาต ดังนั้นจึงควรมีสถาปนิกและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวิเคราะห์ว่าต้องขออนุญาตหรือไม่ มีระยะย่นที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากจำเป็นก็ควรทำให้เรียบร้อยก่อนต่อเติมบ้าน เพื่อป้องกันปัญหากับเพื่อนบ้านและบทลงโทษทางกฎหมายที่จะตามมาในอนาคต
สำหรับใครกำลังมองหาวัสดุเพื่อต่อเติมบ้าน Alderon Thailand ขอแนะนำหลังคา uPVC คุณภาพดี 2 แบบ ได้แก่ Alderon RS หลังคาแบบชั้นเดียว และ Alderon Twinwall หลังคาผนังสองชั้น หลังคาที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าหลังคาทั่วไปในตลาด เพื่อให้คุณเลือกใช้งานให้ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด